รวมเรื่องสั้นดีๆ ในปี 2551

ธันวาคม 29, 2008

เพราะหน้าที่ที่จะต้องเขียนแนะนำหนังสือในนิตยสาร happening (คอลัมน์ ๙) ทำให้ผมต้องอ่านหนังสือดีๆ อย่างน้อยเดือนละ 9 เล่มเลยล่ะครับ
    และในปี 2551 ผมได้อ่านหนังสือรวมเรื่องสั้นดีๆ หลายเล่ม ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะปีนี้ซีไรต์เป็นรอบของการประกวดเรื่องสั้นนะครับ เลยมีหนังสือแนวนี้ออกมาเยอะเลยล่ะ และส่วนหนึ่งเป็นเพราะผมหลงรักวรรณกรรมประเภทนี้อยู่แล้ว ถึงยังไงก็ต้องไปขวนขวายหามาอ่านอยู่ดี
   ในช่วงเปลี่ยนผ่านปีเก่าเข้าปีใหม่อย่างนี้ ผมก็เลยอยากจะเอาหนังสือรวมเรื่องสั้นที่ประทับใจในรอบปีมาแนะนำกันสักหน่อย
    มาดูกันดีกว่าว่ามีเล่มไหนบ้าง…

ss

    เล่มแรก ผมเลือก เหมือนว่าเมื่อวานนี้เอง ของกวีซีไรต์ คุณเรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ ครับ เรื่องสั้นของคุณเรวัตร์ทรงพลังมากๆ ทุกเรื่องไล่เรียงด้วยสำนวนลีลาและบรรยากาศแบบที่กวีเท่านั้นถึงจะทำได้ มีการใช้สัญลักษณ์ท้าทายให้คนอ่านตีความ และมีความโรแมนติกในแบบที่ไม่หวานเอียน กิมมิกสำคัญของรวมเรื่องสั้นเล่มนี้คือแต่ละเรื่องยังเชื่อมกันด้วยตัวละครตัวหนึ่ง ที่บางเรื่องแตะเพียงนิดหน่อย แต่บางเรื่องก็ว่าด้วยตัวละครตัวนี้ โดยสรุปแล้ว ผมว่าถ้าหนังสือเล่มนี้ออกมาเร็วกว่านี้อีกสักหน่อย แล้วทันส่งชิงซีไรต์ ก็จะเป็นเล่มหนึ่งที่เป็นตัวเต็งไปด้วยแน่นอนครับ

   เล่มต่อมา ขอแนะนำ นารีปราโมทย์และเรื่องรักใคร่อื่นๆ ของคุณเอื้อ อัญชลี ครับ ช่วงหลังๆ นี้เธอโด่งดังจากคอลัมน์ สามก๊กฉบับคนกันเอง ในมติชนสุดสัปดาห์ แต่ว่าจริงๆ แล้วเธอเป็นนักเขียนเรื่องสั้นผู้เอาจริงเอาจังมานานแล้ว เรื่องสั้นของคุณเอื้อมีขนาดไม่ยาวครับ คือเรื่องหนึ่งไม่เกิน 10 หน้าหนังสือ แต่ทุกเรื่องในเล่มนี้เล่าเรื่องความรักในความสัมพันธ์แบบต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจ คุณเอื้อใช้ความเป็นผู้หญิงขุดเข้าไปในจิตใจและอารมณ์ที่ยากจะคาดเดาของตัวละครต่างๆ ซึ่งมีทั้งเด็กจนไปถึงวัยกลางคนเลย และที่น่าสนใจคืออารมณ์ของเรื่องสั้นยังหลากหลาย มีตั้งแต่โรแมนติกสุดๆ อย่างเรื่อง “นารีปราโมทย์” เรื่องขำๆ ขื่นๆ ปนเสียดสีอย่าง “Korean Love” ไปจนถึงเรื่องเปรี้ยวๆ อย่าง “ปอกกล้วยเข้าปาก” คือโจทย์ที่ว่าด้วย ‘เรื่องรักใคร่’ นั้นอาจจะดูแคบๆ สักหน่อย แต่คุณเอื้อตีโจทย์นี้ได้กว้างไกล และสนุกสนานมากๆ ครับ

    ต่อกันด้วย เสียงเล่าเรื่องจากเครื่องฉาย เป็นรวมเรื่องสั้นจาก 6 นักเขียน คือ อนุสรณ์ ติปยานนท์, ปราบดา หยุ่น, 10 เดซิเบล, อุทิศ เหมะมูล, กิตติพล สรัคคานนท์ และ ภานุ ตรัยเวช ที่มีคอนเสปต์ว่าด้วย ‘ศิลปะส่องทาง’ ซึ่งแต่ละคนก็ตีโจทย์อย่างลึกล้ำ เรื่องสั้นของนักเขียนทั้ง 6 ก็โชว์ฝีมือกันแบบไม่ยอมน้อยหน้าจนใช้เป็นตัวอย่างของพัฒนาการเรื่องสั้นไทยในยุคปัจจุบันว่าไปถึงไหนกันแล้วได้ดีทีเดียว (ผมชอบเรื่องของ ปราบดา หยุ่น กับ อุทิศ เหมะมูล เป็นพิเศษครับ) หนังสือเล่มนี้ยังทำเป็นเวอร์ชัน 2 ภาษาอีกด้วย ซึ่งอาจทำให้ราคาแพงไปนิด แต่ก็น่าสะสมอยู่ดีนะครับ

    เคหวัตถุ ของ อนุสรณ์ ติปยานนท์ ก็เป็นอีกเล่มที่โดดเด่นในใจผมประจำปีนี้นะครับ หนังสือเล่มนี้เป็นรวมเรื่องสั้นที่ให้อารมณ์ ‘โพสโมเดิร์น’ ที่สุดที่ได้เข้ารอบสุดท้ายซีไรต์ปีนี้ (บางคนอาจจะบอกว่า อ่านไม่รู้เรื่องที่สุดก็ได้) แต่เรื่องสั้นทั้ง 8 ที่เริ่มต้นด้วยการเล่าเรื่องสิ่งของซึ่งส่งผลกับชีวิตอย่างแปลกๆ ในเรื่องแรกๆ แล้วลามไปถึงเรื่องราวอื่นๆ ในเรื่องหลังๆ ก็พาเราไปผจญภัยในจินตนาการได้อย่างสุดเหวี่ยง …ไม่ใช่การผจญภัยแบบแฟนตาซีหรือเข้าสู่โลกเวทย์มนต์อะไรเทือกนั้นนะครับ แต่มันเป็นการผจญภัยในโลกธรรมดาทุกๆ วันของเรานี่ล่ะ เพียงแต่มันทำให้เรามองโลกธรรมดารอบๆ ตัวด้วยสายตาที่เปลี่ยนไปได้เลย

    เล่มสุดท้าย ผมยังประทับใจกับนักเขียนเรื่องสั้นรุ่นใหญ่ที่ผมตามงานมาเนิ่นนานอย่างคุณจำลอง ฝั่งชลจิตร กับ เรื่องบางเรื่อง เหมาะจะเป็นเรื่องจริงมากกว่า นะครับ คุณจำลองเป็นนักเขียนที่จริงจังกับงานประเภทเรื่องสั้นมากๆ และจริงจังมาร่วม 30 ปีแล้ว ที่น่าชื่นชมคือแกยังคงหาหนทางใหม่ๆ ให้งานของตัวเองอยู่เสมอ (และมักจะหาได้เสียด้วย) อย่างในเล่มนี้ก็อย่างที่ชื่อปกจั่วเอาไว้ เพราะเหมือนว่าคุณจำลองจะเล่นสนุกกับการกระโดดข้ามเส้นแบ่งระหว่างเรื่องแต่ง เรื่องจริง และงานเขียนอีกหลายแบบอย่างสนุกสนานและมีชั้นเชิง ยกตัวอย่างง่ายๆ สักเรื่องแล้วกันนะครับ อย่างในเรื่องสั้นชื่อเดียวกับชื่อปกหนังสือนี่ล่ะ คุณจำลองเล่าถึงเด็กหญิงที่พยายามรบเร้าให้นักเขียนเอาโศกนาฏกรรมในชีวิตจริงของตัวเองไปเขียนเป็นวรรณกรรม แต่เพราะนักเขียนเห็นว่าเรื่องของเด็กหญิงมัน ‘จริงเกินไป’ เลยไม่ได้ให้ค่ากับเรื่องแสนเศร้าของเธอสักเท่าไหร่ ครับ, เรื่องบางเรื่องเหมาะจะเป็นเรื่องจริงเท่านั้น แล้วนักเขียนเขียนอะไรล่ะ เขียนเรื่องที่ไม่จริงอย่างนั้นหรือ?
    เคยมีคนบอกว่า ‘ศิลปะคือการเล่าเรื่องโกหกเพื่อให้ผู้เสพค้นพบความจริง’ ผมคิดว่าคุณจำลองทำให้เราต้องใคร่ครวญกับประโยคนี้ให้ถี่ถ้วนอีกหลายชั้นเลยทีเดียว
    ทั้งในฐานะนักอ่าน และในฐานะนักเขียนเลยล่ะ

    มาถึงตรงนี้ ก็อยากจะถามไถ่กับคนที่เข้ามาอ่านบล็อกของผมทั้งปีอยู่เหมือนกันครับ ว่าปีนี้ได้อ่านเรื่องสั้นที่โดนใจกันบ้างหรือยัง?

7 Responses to “รวมเรื่องสั้นดีๆ ในปี 2551”

  1. ส้ม Says:

    ได้อ่านแต่เรื่องยาวๆ ค่ะพี่
    แถมหนังสือที่ซื้อใหม่แต่ละเล่มก็ไม่มีเรื่องสั้นเลย

    แต่ถ้าถามถึงเรื่องสั้นที่เคยอ่านแล้วชอบก็มี แม่ มด บน ตึก ของคุณปริทรรศ หุตางกูร
    นั่นมันก็นานมากแล้ว รู้สึกจะตั้งแต่ปี 2545

    เขินจัง

  2. DAZZA Says:

    ถามกลับมาแบบนี้ ทำให้นึกนึกเลยไปว่า
    อ่านอะไรไปบ้างนะ? ฮ่าๆๆ

  3. Nakoi Says:

    เย่……..ขอบคุณมากคะพี่วิบ ที่ทำให้ตัวหนังสือใหญ่โต่และ ทรงพลังขึ้น ฮ่า ฮ่า ฮ่า ในที่สุดก็มองเห็นได้ง่ายซะที

    ขอบคุณที่มีเรื่องน่าสนใจมาเล่าให้ฟังตลอด

  4. แทน Says:

    เสียเงินอีกไม่ใช่น้อยแต่ได้กลับมาก็ไม่น้อยเช่นกัน

  5. ple proof Says:

    ชอบเคหวัตถุ


  6. เคยอ่านแค่เล่มเดียว

  7. rawin Says:

    จะตามอ่านนะครับ


ใส่ความเห็น