ศิลปะไม่ต้องเข้าใจ

ตุลาคม 5, 2008

กลับมาอีกหนจนได้นะครับ
    กลับมาคราวนี้มีคอลัมน์ใหม่มาแนะนำครับ เป็นคอลัมน์ชื่อ Life is Learning ที่ทางทีมงานเซ็กชั่นจุดประกาย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ให้เกียรติผมไปเขียนเดือนละครั้ง ก็เลยเอามาโปรโมตกันสักหน่อย เผื่อว่าจะมีคนได้อ่านบล็อกแล้วตามไปอ่านในหนังสือพิมพ์ (จริงๆ ควรจะเป็นได้อ่านในหนังสือพิมพ์แล้วตามมาอ่านบล็อกมากกว่า)
    ผมเขียนคอลัมน์นี้มาสี่ครั้งแล้วครับ หวังว่าจะเขียนได้ยาวนาน ชิ้นที่เอามาลงให้ดูเป็นงานที่ตีพิมพ์ไปเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผมตั้งชื่อว่า ศิลปะไม่ต้องเข้าใจ ลองอ่านกันดูนะครับ…

* * * * * * * * * *

ศิลปะไม่ต้องเข้าใจ

    …หลังออกมาจากโรงภาพยนตร์อาร์ตเฮาส์ย่านอาร์ซีเอ เพื่อนผมหันมาถามว่า “หนังเมื่อกี๊มันจะสื่ออะไรวะ ดูไม่รู้เรื่องเลย”
    …หลังจากเดินดูนิทรรศการศิลปะจัดวางในแกลลอรี่ย่านสุขุมวิทอยู่พักใหญ่ เพื่อนร่วมงานของผมก็หันมาบอกว่า “สวยดี แต่ดูไม่ค่อยรู้เรื่องนะ”
    …ในคอนเสิร์ต ริก วชิรปิลันธ์ ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พอฟังเพลงของนักร้องสาวสุดเซอร์จบไปหนึ่งเพลง คนข้างๆ ก็หันมาบอกผมว่า “ฟังไม่รู้เรื่องเลยว่ะ เขาร้องว่าอะไร”

    เนื่องจากทำอาชีพเป็นสื่อบันเทิงที่มีหน้าที่แนะนำหนัง เพลง หนังสือ และงานศิลปะให้กับใครต่อใคร ผมจึงได้พบเจอคำถามประมาณนี้ค่อนข้างบ่อย บางครั้งเพื่อนดูหนังไม่รู้เรื่องแล้วโทรมาถามผมก็มี บางทีเพื่อนอ่านวรรณกรรมไม่เข้าใจแล้วโทรมาถามก็เคย
    แต่คำตอบแรกๆ ของผมส่วนใหญ่มักจะเป็นประโยคที่ว่า “ไม่เห็นต้องรู้เรื่องเลยนี่”
    ตอบไปง่ายๆ ไปแบบหน้าไม่อายอย่างนี้แหละ เพราะผมคิดว่าประเด็นสำคัญของการเสพงานศิลปะคือ เราควรจะเสพแล้ว ‘รู้สึก’ ก่อนที่จะ ‘รู้เรื่อง’ นะครับ
    แน่นอนว่างานศิลปะหลายชิ้นที่ว่าดูไม่รู้เรื่องนั้น ศิลปินก็คงมีแนวความคิดในการทำงานซ่อนอยู่ เส้นสายลายสีฉูดฉาดอาจจะถูกออกแบบมาให้สื่อถึงความโกรธเกรี้ยว หรือเสียงร้องบิดเบี้ยวอื้ออึงอาจจะเป็นตัวแทนของเสียงในจิตใจจากผู้คนแห่งสังคมเมือง แต่เรื่องแบบนี้ถ้าศิลปินไม่ได้ไปยืนอธิบายให้กับผู้เสพรับทราบกันเป็นรายตัว ใครเล่าจะไปเข้าใจได้ตรงเป๊ะ …ที่สำคัญ ทำแบบนั้นจะไปสนุกอะไรล่ะครับ?
    หลายๆ ครั้งเมื่อเราเห็นชิ้นงานศิลปะที่ดูแล้ว ‘อาร์ตๆ’ ความรู้สึกแรกจึงมักจะเป็นความไม่เข้าใจ
    แต่การเริ่มต้นด้วยความไม่เข้าใจนี่เองที่เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของการเสพงานศิลปะ เพราะไม่เข้าใจจึงเกิดอาการใคร่รู้ เพราะใคร่รู้จึงเกิดความพยายามในการตีความ ส่วนใหญ่เมื่ออยากตีความแล้ว ผู้เสพอย่างเราๆ ก็มักจะเอาความรู้สึก อารมณ์ ตลอดจนประสบการณ์ และรสนิยมส่วนตัว เข้าไปวิเคราะห์ชิ้นงานนั้น
    สิ่งหนึ่งที่เราจะได้ใช้แน่ๆ ในขั้นตอนเหล่านี้ก็คือ ‘จินตนาการ’ ครับ …นี่ล่ะที่เขาว่า ศิลปะทำให้เกิดจินตนาการ
    นอกจากนี้ ผมคิดว่าระดับความพอใจในการวิเคราะห์ของคนเรายังไม่เท่ากันด้วย
    ในแวบแรก บางคนอาจจะตัดสินใจได้ทันทีว่าชอบหรือไม่ชอบชิ้นงานนั้นๆ เพราะใช้อารมณ์เข้าไปสัมผัส แค่นั้นก็พอแล้วสำหรับบางคน …ในแวบที่สอง อีกบางคนอาจนึกอยากวิเคราะห์ต่อไปว่า แล้วที่ชอบหรือไม่ชอบนั้นเป็นเพราะอะไร คราวนี้ก็เป็นหน้าที่ของประสบการณ์ ความทรงจำ รสนิยม และอะไรต่อมิอะไรที่ติดตัวของกันมา แค่นี้ก็พอแล้วสำหรับอีกบางคน …ในแวบต่อๆ มา ยังมีอีกบางคนอาจจะอยากได้ข้อมูลในเชิงลึกเพื่อประกอบการวิเคราะห์เข้าไปอีก ทีนี้เขาก็อาจจะไปตามตัวศิลปินหรือตามบทสัมภาษณ์ของศิลปินเจ้าของงาน ไม่ก็อาจจะไปหาอ่านบทวิจารณ์ของเหล่าคอลัมนิสต์นักวิจารณ์เพื่อหาความเห็นเพิ่มเติม หรือกระทั่งลงทุนไปลงทะเบียนเรียนศึกษาเพิ่มเติมด้วยตัวเองเลยก็เป็นได้
    ทุกคนไม่มีใครผิด ไม่มีใครถูก เพียงแค่ระดับความพอใจไม่เท่ากันเท่านั้น บางคนอาจจะรู้สึก คิด และเลือกที่จะเข้าใจงานชิ้นนั้นๆ ในความหมายของตัวเอง บางคนอาจจะเอาทฤษฎีเข้ามาจับ เอาแนวคิดของศิลปินเข้ามาตีความ นั่นก็อยู่ที่ใครจะเลือกวิเคราะห์แบบใด
    แต่แน่นอน ทุกคนล้วนเริ่มต้นจากความไม่เข้าใจกันทั้งนั้น
    และการที่ผู้เสพศิลปะสามารถตีความได้หลากหลายอย่างนี้นี่แหละ ที่ทำให้การศิลปะเป็นเรื่องน่าสนุก ยิ่งนำมาแลกเปลี่ยนความเห็นกันได้ ก็ยิ่งทำให้เข้าใจในตัวตนและความคิดอ่านของแต่ละคนกันมากขึ้น และที่สำคัญ การที่เราดูงานศิลปะแล้วเกิดความรู้สึกบางอย่าง จนอยากวิเคราะห์ว่าทำไมตัวเองชมงานชิ้นนั้นแล้วรู้สึกอย่างนั้น นั่นก็น่าจะทำให้เราเข้าใจตัวของตัวเองได้มากขึ้นด้วย
    และการตีความกลวิธีการเสพงานศิลปะที่ผมเล่ามา ก็เป็นวิธีคิดของผมเพียงลำพังคนเดียวเช่นกัน ไม่น่าจะถูกหรือผิด ผมเพียงรู้ว่าผมคิดอย่างนี้มาจากประสบการณ์ ความทรงจำ และจินตนาการของผมนี่ล่ะ
    ในชีวิตการเป็นคนทำหนังสือ ครั้งหนึ่งผมเคยทำหนังสือเล่มเล็กๆ เล่มหนึ่งที่รวบรวมนิยามคำว่า ‘ศิลปะ’ จากคนหลากหลายเอาไว้ครับ ปรากฏว่าบางคนให้คำนิยามแบบเฉพาะเจาะจง บางคนให้นิยามแบบนามธรรม บางคนนิยามแบบตลกขบขัน ที่น่าสนใจก็คือไม่มีใครให้นิยามคำว่า ‘ศิลปะ’ ได้เหมือนกันเลย ต่างคนต่างก็มีความหมายไว้อธิบายคำคำนี้เป็นของตัวเองทั้งสิ้น
    สำหรับผม, ผมคิดว่า ‘ศิลปะ’ คงคล้ายๆ กับคำว่า ‘ชีวิต’ และคล้ายๆ กับ ‘ความรัก’ ตรงที่เราอธิบายมันไม่ได้ชัดเจน ไม่อาจเข้าใจมันได้ด้วยนิยามสากลที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกัน
    แต่ถ้าชีวิตคือการค้นหา ผมก็คิดว่าทุกคนควรมีนิยามของตัวเองสำหรับถ้อยคำเหล่านี้นะครับ

ตีพิมพ์ครั้งแรก กรุงเทพธุรกิจ 29 สิงหาคม 2551

* * * * * * * * * *

    อ่านมาถึงตรงนี้ก็ต้องโปรโมตปิดท้ายกันว่า ถ้าสนใจคอลัมน์นี้คงต้องไปตามอ่านกันในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เซ็กชั่นจุดประกาย ทุกๆ วันศุกร์ต้นเดือนนะครับ
    แล้วเจอกันใหม่เร็วๆ นี้ครับผม

13 Responses to “ศิลปะไม่ต้องเข้าใจ”

  1. soserene Says:

    เคยรู้สึกอย่างนี้เหมือนกันค่ะ
    บางทีเราดูหนังหรืออ่านหนังสือแล้วไม่เข้าใจว่าต้องการจะสื่ออะไร
    ก็เก็บไปงงและหงุดหงิดในบางที

    พอมาช่วงนี้ลงเรียนคอร์สวรรณกรรม เห็นอะไรต่างไปเยอะเลยค่ะ
    element บางอย่างในเรื่องสั้นหรือนิยายก็ไม่ได้มีความหมายตายตัวเสมอไป
    ขึ้นอยู่กับมุมมองของคนอ่าน/ผู้เสพสารนั้นๆ แต่ละคนก็ตีความออกมาไม่เหมือนกัน
    คิดเหมือนพี่วิภว์ค่ะว่า บางทีเราไม่ต้องพยายามจะไปเข้าใจทั้งหมดก็ได้

    สิ่งที่สำคัญคือความรู้สึกที่ได้ต่างหาก 🙂

    ปล. อ่านบทความของพี่อันนี้แล้วเหมือนได้นั่งคุยกับอาจารย์ที่สอนวิชานี้เลย ฮ่ะๆ

  2. iJeabb Says:

    เห็นด้วยค่ะคุณพี่

    เวลาดูหนัง หรือ อ่านหนังสือที่มันไม่ได้ดำเนินเรื่องแบบชาวบ้าน
    หรือจบตามประเพณี

    มันจะสนุกมากตรงที่ได้กลับมานั่งค้นข้อมูล
    คุยกับคนอื่นๆ ว่าคิดยังไง
    ได้วิเคราะห์ ได้เกิดความอยากรู้อยากเห็น…และอยากเข้าใจ

    ปล.ลงท้ายก็แอบหวานเหมือนกันนะ 55


  3. เขียนได้ดีจ้ะวิพ

    พี่ก็เจอบ่อยเหมือนกัน ที่เพื่อนโทรมาถามว่าหนังเรื่องนี้มันต้องการจะสื่อว่ายังไง (โดยเฉพาะเวลาหนังพี่ต้อม เป็นเอก ออกฉาย เพราะเพื่อนรู้ว่าเป็นทีมงาน) พี่ก็จะถามกลับไปว่า เธอดูแล้วเข้าใจว่ายังไงล่ะ หรือดูแล้วรู้สึกยังไง มันก็เป็นยังงั้นแหละ (มั้ง)

    โดยส่วนตัวพี่ไม่ค่อยสนใจกับความรู้เรื่องมากนักเวลาดูหนัง แต่มันก็อยู่กับชนิดของหนังเรื่องนั้นๆ ด้วย ถ้าเป็นหนังเล่าเรื่อง (narrative) ทั่วไป มันก็ต้องดูรู้เรื่อง แต่ถ้าเป็นหนังทดลอง มันก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นหนังที่ต้องการทดลองอะไรใหม่ๆ

    การตอบรับงานศิลปะก็เหมือนการกินอาหารละมั้ง คนบางคนไม่ชอบลองอะไรใหม่ๆ ชอบกินแต่ของเดิมๆ ที่คุ้นชิน บางคนไม่เคยลอง แต่พอได้เปิดใจลอง ก็พบว่า เออ มันก็มีอาหารแปลกๆ ใหม่ๆ ที่เราไม่รู้จักตั้งเยอะแฮะ น่าสนุกดีออก 😉

  4. แนน จ้า Says:

    “ผมคิดว่าประเด็นสำคัญของการเสพงานศิลปะคือ เราควรจะเสพแล้ว ‘รู้สึก’ ก่อนที่จะ ‘รู้เรื่อง’ นะครับ”

    แนน ชอบ อันนี้ ที่ พี่เขียน อ่า
    ชอบบบ

    ที๊..สุดดดดดดดดดด

  5. vap Says:

    พอเราเข้าใจไปต่างกัน ตีความต่างกันไป แล้วเอามาแลกเปลี่ยน รับฟังความคิดที่แตกต่าง ก็ทำให้เกิดความเข้าใจที่แตกแขนงออกไปได้อีก
    จะว่าไปแล้ว นี่เป็นรากฐานของความคิดในระบอบประชาธิปไตยเลย ว่าไหม?
    ต่างกันก็ตรงที่การเมืองต้องทั้ง “รู้เรื่อง” และ “รู้สึก”

  6. โน่ Says:

    ยังคงรู้สึกเขินๆ เวลาต้องบอกชอบใคร หรือชอบอะไรผ่านที่สาธารณะ
    แต่ยังคงต้องแสดงตัว เพราะอดจะชื่นชมซึ่งหน้าไม่ได้

    จะตามอ่านงานพี่วิปต่อไปนะครับ

  7. danaya Says:

    เอิ่ม อ่ะแฮ่ม
    ไอ่พ้มก็ไม่เข้าใจ ว่าทำไมมันต้องเข้าใจกันด้วย ก็ในเมื่อศิลปะ มั๊นคือจิตวิ้นญา…..

  8. nakoi Says:

    ฮ่า….ดีใจที่ได้ยินว่า “ดูแล้วไม่เข้าใจ”

    ช่วยเอาที่เขียนลงในนสพ. มาลงให้อ่านอีกนะ อยากอ่านคะ ขอบคุณล่วงหน้านะคะ

  9. ืนพ Says:

    สว่างวาบเลยครับพี่

    คราวนี้ผมคงดูงานศิลปะได้สบายใจซะที

    ขอบคุณครับผม

  10. nakoi Says:

    vip ตัวหนังสือมันเล็กมากๆเลยนะ ทรมานสุดๆ เลย เดี๋ยวต้องหาวิธีขยายก่อนนะ

  11. อุ๊ Says:

    พี่วิพ



    มาหาแรงบันดาลใจ

    ^-^

    อ่านบทความของพี่ทีไร
    ตกหลุมรักทุกทีสิน่ะ
    เฮ่อ…
    😛

  12. แทน Says:

    พี่ว่าไหมบางที มันไม่ต้องไปหาคำตอบจากสิ่งที่เห็นก็ได้ ในเมื่อข้างหน้าเราเห็นมันไม่ใช่โจทย์คณิตศาสตร์ซะหน่อย

  13. หนูเอง... Says:

    หวัดดีค่ะพี่วิภว์

    อ่านเเล้วอยากคุยด้วย…ก็เลยคอมเมนต์นิดหนึ่ง

    วันนี้เปิดอ่านเว็บไปเรื่อย ๆ ได้ความรู้ใหม่ เเปลก ๆ เเละเเรงบันดาลใจบางอย่างที่ทำให้หัวใจบึ่มบ่ามยังไงไม่รู้ จากหลาย ๆ เรื่องที่อ่านเจอวันนี้…หนึ่งในนั้นคือเรื่อง “ศิลปะไม่ต้องเข้าใจ” ของพี่วิภว์ด้วยค่ะ

    “ศิลปะไม่ต้องเข้าใจ” ทำให้นึกถึงคาบเรียนวิชาบันเทิงคดีของอ.ชัชฯ สนุก ได้ความรู้ เปิดรับจินตนาการ

    “ศิลปะไม่ต้องเข้าใจ” ทำให้นึกถึงบรรยาการโรงหนังอาร์ตเฮาส์(ที่ไม่ค่อยได้ไปบ่อยนัก)ที่กระตุ้นต่อมกระหาย ‘หนังดี ๆ’สักเรื่องที่ช่วงนี้ไม่ค่อยผ่านเข้ามาให้ ‘รู้สึก’ นึกถึงหอศิลป์เล็ก ๆ ที่มหา’ลัย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เราอยากยืนนาน ๆ เพื่อดูงานศิลปะบางชิ้นด้วยความรู้สึกสงสัย ชื่นชม ใคร่คิด สุขใจ(ซึ่งมีหลายครั้งที่จบลงด้วยความรู้สึกไม่เข้าใจก็ตาม)

    “ศิลปะไม่ต้องเข้าใจ” ทำให้ ‘รู้จัก’ตัวเองมากขึ้นในบางเรื่อง…

    ขอบคุณ “ศิลปะไม่ต้องเข้าใจ” ของพี่วิภว์จริง ๆค่ะ

    จากใจจริง
    …………….


ส่งความเห็นที่ nakoi ยกเลิกการตอบ